รู้จักกับ HBAR เหรียญที่มายกระดับสู่ Smart Contract 2.0
HBAR คืออะไร? HBAR (เฮชบาร์) คือเหรียญประจำแพลตฟอร์ม Hedera Hashgraph โดยมีหน้าที่อยู่ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือเป็นสกุลเงินที่หมุนเวียนในระบบ โดยผู้ใช้จะนำ HBAR มาใช้เมื่อต้องการใช้บริการของแพลตฟอร์ม อาทิ การใช้งานสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) การจัดเก็บข้อมูล หรือการประมวลผลธุรกรรม และอย่างที่สองคือใช้วางค้ำประกัน (Stake) เพื่อช่วยตรวจสอบธุรกรรมและรักษาความมั่นคงของแพลตฟอร์ม
Hedera Hashgraph คืออะไร
Hedera Hashgraph (เฮเดลา แฮชกราฟ) คือแพลตฟอร์มสาธารณะที่รองรับ Smart Contract เพื่อสร้างแอปพลิเคชันกระจายศูนย์ (Decentralized Application) เช่นเดียวกับ Ethereum, Fantom, Avalanche, และอื่น ๆ แต่ Hedera เน้นการใช้งานในระดับ Enterprise-grade หรือระดับองค์กรขนาดใหญ่โดยเฉพาะ และมีจุดเด่นที่ Smart Contract เพราะนอกจากจะรองรับภาษา Solidity ที่เป็นภาษาเดียวกับที่ใช้บน Ethereum แล้ว Hedera ยังระบุอีกว่า Smart Contract ของพวกเขามีความเร็ว ความเสถียร เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีค่าธรรมเนียม (Gas Fee) ในระดับที่สามารถคาดเดาได้ง่ายเสมอ
Hedera Hashgraph มีบริษัทระดับโลกร่วมเป็นพาร์ตเนอร์เพื่อช่วยดูแลเครือข่ายและขยาย Ecosystem ของ HBAR ไม่ว่าจะเป็น Google, Ubisoft, DBS และอีกมากมาย
เทคโนโลยีที่น่าสนใจของ Hedera Hashgraph
HBAR ไม่ได้สร้างขึ้นบนพื้นฐานของบล็อกเชนเหมือนกับแพลตฟอร์ม Smart Contract อื่น ๆ แต่ Hedera ใช้โครงสร้างที่เรียกว่า Hashgraph คิดค้นโดย Dr. Leemon Baird
เช่นเดียวกับ Blockchain และ DAG (Directed Acyclic Graph) โครงสร้าง Hashgraph จัดเป็นโครงสร้างสมุดบัญชีสาธารณะรูปแบบหนึ่ง และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สืบทอดของบล็อกเชน เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาสำคัญของบล็อกเชนได้ ไม่ว่าจะเป็น การขยายขนาด (Scalability) ความเร็ว และค่าธรรมเนียม
Dr. Leemon Baird ได้อธิบายเกี่ยวกับหลักการทำงานของ Hashgraph โดยมีฟังก์ชันที่สนใจมาก เรียกว่า “Gossip about Gossip” (การซุบซิบถึงเรื่องซุบซิบ) โดยการซุบซิบในที่นี้หมายถึงข้อมูลที่โหนดภายในเครือข่ายรู้ เช่น มูลค่าของธุรกรรม ผู้ทำธุรกรรม เวลา ลำดับบล็อก เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นบล็อกเชน ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องจะไม่ถูกนำใช้ร่วมกับการหาฉันทามติ แต่ถ้าเป็น Hashgraph ข้อมูลที่ยกตัวอย่างมาจะถูกส่งต่อไปยังโหนดอื่นแบบสุ่ม เพื่อให้โหนดอื่นรับรู้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นของโหนดเจ้าของข้อมูล และเอาข้อมูลนั้นไปบอกโหนดอื่นต่อแบบสุ่มไปเรื่อย ๆ คล้ายกับเรื่องซุบซิบที่ถูกบอกต่อแบบปากต่อปากไปเรื่อย ๆ
ทีนี้พอแต่ละโหนดรู้เรื่องซุบซิบของโหนดอื่นแล้ว Hashgraph มีอีกฟังก์ชันหนึ่งที่เรียกว่า “Virtual Voting” (การโหวตเสมือน) อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นการโหวตโดยที่ไม่ต้องมาตกลงกันว่าจะโหวต เพราะแต่ละโหนดรู้เรื่องของโหนดอื่นแล้วจึงสามารถคาดเดาได้ว่าโหนดไหนหรือใครเป็นผู้ส่งธุรกรรม จึงสามารถบรรลุฉันทามติได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง โดยทาง Hedera ได้ระบุว่าโครงสร้างแบบ Hashgraph สามารถประมวลธุรกรรมได้เร็วถึง 10,000 ธุรกรรมต่อวินาที
ขอบคุณที่มา : https://www.bitkub.com/th/blog/what-is-hbar-a9632ca2923d